“โพสต์ โมเดิร์น” “หลังสมัยใหม่” ในภาษาอังกฤษคือ post-modern หรือบ้างก็เขียนว่า postmodern หรือ ลัทธิหลังสมัยใหม่ (Postmodernism, โพสต์โมเดิร์นนิสม์)
เป็นที่เข้าใจกันว่าคำว่า โพสต์โมเดิร์นนิสม์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ “อาร์คิเทคเจอร์ แอนด์ เดอะ สปิริต ออฟ แมน” (Architecture and the Spirit of Man) ของ โจเซ็พ ฮัดนอท (Joseph Hudnot) ในปี 1949 ต่อมาอีก 20 ปีให้หลัง ชาร์ลส์ เจนส์ (Charles Jencks) ช่วยทำให้แพร่หลายออกไป จนกระทั่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 นักวิจารณ์ศิลปะเริ่มใช้คำๆนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ ในตอนนั้นคำว่า โพสต์โมเดิร์น ยังคลุมเครืออยู่มาก แต่โดยมากแล้วบ่งบอกถึงการต่อต้านลัทธิสมัยใหม่ (โมเดิร์นนิสม์)
ศิลปะแบบ หลังสมัยใหม่ เติบโตขึ้นจาก พ็อพ อาร์ต (Pop Art), คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) และ เฟมินิสต์ อาร์ต (Feminist art) อันเป็นนวัตกรรมของศิลปินในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 โดยแท้ พวก หลังสมัยใหม่ ได้ทำการรื้อฟื้นรูปแบบ ประเด็นสาระ หรือเนื้อหาหลายอย่างที่พวกสมัยใหม่เคยดูหมิ่นและรังเกียจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง โรเบิร์ต เว็นทูรี (Robert Venturi) สถาปนิกในยุค 1960 ได้เขียนแสดงความเห็นในงานเขียนที่ชื่อ “คอมเพล็กซิตี้ แอนด์ คอนทราดิคชัน อิน อาร์คิเทคเจอร์” (Complexity and Contradiction in Architecture) (ปี 1966) เกี่ยวกับ “หลังสมัยใหม่” เอาไว้ว่า “คือปัจจัย (ต่างๆ) ที่เป็น “ลูกผสม” แทนที่จะ “บริสุทธิ์”, “ประนีประนอม” แทนที่จะ “สะอาดหมดจด”, “คลุมเครือ” แทนที่จะ “จะแจ้ง”, “วิปริต” พอๆกับที่ “น่าสนใจ”
ในแวดวงทฤษฎีเกี่ยวกับศิลปะ “หลังสมัยใหม่” ได้ยกเลิกการแบ่งแยกศาสตร์ต่างๆ เช่น การแบ่งศิลปวิจารณ์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และสื่อสารมวลชนออกจากกัน โดยการนำเอาศาสตร์เหล่านั้นมาผสมร่วมกัน แล้วนำเสนอเป็นทฤษฎีหลังสมัยใหม่ เช่นงานทางความคิดของ มิเชล ฟูโค (Michel Foucault) ฌอง โบดริยารด์ (Jean Baudrillard) และ เฟรดริค เจมสัน (Fredric Jameson)
Ihab Hassan ได้ให้คำจำกัดความ “หลังสมัยใหม่” ว่าเป็น “ยุคที่ไม่สามารถกำหนดได้” ซึ่งเขาหมายถึง “อาณาบริเวณที่วาทกรรม (discourse)” ต่างๆ ทำหน้าที่ของมัน โดยที่ความหลากหลายของแนวคิด (concept) จะช่วยให้เราตระหนักถึง “รหัส” (sign) ที่อยู่รอบๆ ตัวของเรา โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในภาษา (language) Hassan ได้พยายามรวบรวม “ลักษณะ” ของแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่ในงานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน ภาษาศาสตร์ ทฤษฎีวรรณกรรม ปรัชญา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ ตลอดจนเทววิทยา จากนักคิด นักเขียนหลายๆ กลุ่มทั้งจากยุโรป และอเมริกา โดยทำการเปรียบกับรูปแบบที่ปรากฏในงานของสมัยใหม่นิยม จากการรวบรวมของ Hassan แนวคิดของหลังสมัยใหม่ มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากสมัยใหม่ ดังนี้
เปรียบเทียบสภาวะสมัยใหม่กับสภาวะหลังสมัยใหม่ตามแนวคิดของ Hassan ดังนี้
Modern (สมัยใหม่) Postmodern (หลังสมัยใหม่)
Unity (ความเป็นหนึ่ง) Difference (ความแตกต่าง)
Absolute (ความสัมบูรณ์) Relative (ความสัมพัทธ์)
Continuity (ความต่อเนื่อง) Discontinuity (ความไม่ต่อเนื่อง)
Stability (ความมั่นคง) Dispersion (การกระจัดกระจาย)
Order (ระเบียบ) Disorder/chaos (ไร้ระเบียบ)
Unity (ความเป็นหนึ่ง) Difference (ความแตกต่าง)
Absolute (ความสัมบูรณ์) Relative (ความสัมพัทธ์)
Continuity (ความต่อเนื่อง) Discontinuity (ความไม่ต่อเนื่อง)
Stability (ความมั่นคง) Dispersion (การกระจัดกระจาย)
Order (ระเบียบ) Disorder/chaos (ไร้ระเบียบ)
จากการเปรียบเทียบตามแนวคิดของ Hassan ดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า ลักษณะของหลังสมัยใหม่มีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นลักษณะของความแตกต่าง, เป็นลักษณะของความสัมพัทธ์, เป็นลักษณะของความไม่ต่อเนื่อง, เป็นลักษณะของการกระจัดกระจายและเป็นลักษณะของความไร้ระเบียบนั้นเอง
post modern art |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น